วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559



ชาวอินเดียเชื่อว่า กำเนิดของการฟ้อนรำมีความสัมพันธ์กับเทพ ๒ องค์ คือ พระศิวะ และ   พระพรหม ตำนานหนึ่งกล่าวว่าพระศิวะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการฟ้อนรำขึ้นในขณะที่อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาดังกล่าวนี้คือพระพรหม ตำนานการฟ้อนรำที่เชื่อว่าพระศิวะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทขึ้นนั้นปรากฏอยู่ใน “โกยิลปุราณะ”  ซี่งเป็นคัมภีร์ปุราณะของทมิฬ เรื่องราวมีอยู่ว่ามีฤษีพวกหนึ่งพร้อมด้วยภรรยาตั้งอาศรมอยู่ในป่าตารกะ ต่อมาฤษีกลุ่มนี้ประพฤติผิด อนาจาร ฝ่าฝืนเทวบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พระศิวะเห็นว่าฤษีเหล่านี้เป็น ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ควรที่จะได้รับการสั่งสอนให้รู้จักความรับผิดชอบ พระองค์จึงได้ชวนพระนารายณ์เสด็จมายังมนุษยโลกเพื่อที่จะทรมานฤษีเหล่านี้ พระอิศวรทรงแปลงพระองค์เป็นฤษีหนุ่มรูปงาม และให้    พระนารายณ์แปลงเป็นภรรยาสาวรูปร่างสวยงาม น่าเสน่หา พากันตรงไปยังป่าตารกะ เมื่อฤษีกลุ่มดังกล่าวเห็นก็พากันกำหนัดลุ่มหลงรักใคร่นางนารายณ์ ฝ่ายภรรยาฤษีก็พากันหลงใหลฤษีแปลง    จึงวิวาทกันด้วยอำนาจราคจริต เนื่องจากต่างพยายามที่จะเกี้ยวคนทั้ง ๒ แต่ไม่สำเร็จ ฤษีตนหนึ่งได้เตือนว่าฤษีหนุ่มและภรรยานั้นคงจะมิใช่มนุษย์ธรรมดาจากนั้นก็ได้เล่าเรื่องให้ฤษีทุกตนทราบเรื่อง    เหล่าฤษีต่างพากันสาปแช่ง ขณะกำลังประกอบพิธีบูชายัญได้ปรากฏเสือใหญ่ตัวหนึ่งในกองเพลิงตรงเข้าหาฤษีแปลง แต่ฤษีแปลงก็มิได้หวั่นกลัว จับเสือขึ้นมาและถลกหนังเสือมาครองแทนผ้า แต่เหล่าฤษีก็ยังไม่ยอมแพ้กลับนิรมิตงูใหญ่ขึ้นอีกตัวหนึ่ง ฤษีแปลงก็จับงูมาคล้องคอเป็นสังวาล ฤษีทั้งหลายจึงสิ้นฤทธิ์ในที่สุด พระอิศวรและพระนารายณ์ก็กลายร่างกลับคืนดังเดิม และได้กล่าวคำสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี จากนั้นพระองค์ทรงเริ่มต้นฟ้อนรำ
          ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ มุยะคะละ หรืออสูรมูลาคนี เข้ามาขัดขวางเพื่อจะช่วยฤษีพวกนั้น       พระอิศวรจึงใช้พระบาทเหยียบอสูรตนนั้น แล้วร่ายรำด้วยท่าทางอันงดงาม โดยมีเทวดา ฤษี มาเฝ้าดูด้วยความพิศวงในท่าอันงดงาม เมื่อจบการฟ้อนรำ เหล่าฤษีก็ละทิฐิ ต่างพากันขอขมาโทษต่อพระอิศวรและพระนารายณ์
          การฟ้อนรำของพระอิศวรที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนเป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อพระยา   อนันตนาคราชหรือ เศษนาคราช ซึ่งเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ใคร่ที่จะได้ชมการฟ้อนรำของ       พระอิศวรอีก จึงทูลขอต่อพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงแนะนำว่า การที่จะไปทูลพระอิศวรให้ทรงแสดงการฟ้อนรำอีกครั้งหนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ และยังเป็นการไม่สมควร แต่ก็ยังมีวิธี กล่าวคือพระอนันตนาคราชต้องไปบำเพ็ญตบะ ทำพิธีบูชาพระศิวะที่เชิงเขาไกรลาส พระศิวะจะเสด็จมาประทานพรเอง  พระยาอนันตนาคราชก็ได้ทำตามที่พระนารายณ์แนะนำ พระศิวะก็ได้ประทานพรให้ตามที่ขอ ทรงกำหนดสถานที่ให้ในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดัมทรัม (Chidambaram) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นสถานที่ที่พระองค์จะเสด็จมาฟ้อนรำให้มนุษยโลกชมเป็นครั้งแรก เมื่อถึงกำหนดพระศิวะเสด็จมาถึง ณ ที่นั้น พร้อมด้วยบริวาร ทรงนิมิตสุวรรณศาลาขึ้น และเริ่มต้นการฟ้อนรำ ให้แก่พระยาอนันตนาคราชและมนุษย์ได้ชม
          จากตำนานดังกล่าว ชาวฮินดูเชื่อว่า เมืองจิดัมทรัม  เป็นสถานที่ที่พระอิศวรเสด็จลงมาแสดงการฟ้อนรำบนโลกมนุษย์เป็นครั้งแรก จึงคิดสร้างเทวรูปของพระองค์ ปางฟ้อนรำ เรียกว่า “นาฏราช” หรือ  “ศิวนาฏราช” และช่วยกันจำหลักท่ารำ ๑๐๘ ท่าของพระอิศวรไว้ที่เสาไม้ทางตะวันออกที่ทางเข้ามหาวิหาร ท่ารำเหล่านี้ตรงกับที่กล่าวไว้ในตำรา “นาฏยศาสตร์” ซึ่งรจนาโดยพระภรตมุนี ท่าฟ้อนรำเหล่านี้ถือเป็นแบบฉบับของนาฏศิลป์อินเดีย ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และแพร่กระจายมาสู่ดินแดนไทย
          ส่วนตำนานการฟ้อนรำที่เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ประสาทวิชานั้น มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า      ครั้งหนึ่งเหล่าเทพต้องการให้มีงานรื่นเริงสนุกสนานจึงทูลขอต่อพระพรหม พระพรหมจึงได้สร้าง     “นาฏยเวท” (NATAYA  VEDA) โดยทรงหยิบสาระสำคัญจากคัมภีร์พระเวททั้งสี่มารวมกัน ดังนี้
                   ภาษาและถ้อยคำจากฤคเวท  (RIGVEDA)
                   กิริยาท่าทางและลีลาจากยชุรเวท  (YAGUR  VEDA)
                   การขับลำนำแบบการสวดจากสามเวท  (SAMA  VADA)
                   รสมาจากอาถรรพเวท  (ATHARVA  VEDA)
                จากตำนานข้างต้น กล่าวได้ว่าไทยรับอิทธิพลรูปแบบการฟ้อนรำมาจากตำนานพระอิศวร    พิสูจน์ได้จากท่ารำแม่บทของนาฏศิลป์ไทยนั้นมี ๑๐๘ ท่า ซึ่งมีเค้ามาจากท่า “นาฏราช” ตามตำนาน     ศิวนาฏราช อีกทั้งเทวรูปที่คนในวงการนาฏศิลป์เคารพนับถือคือเทวรูปศิวนาฏราช


 



ท่านใดสนใจ สอบถามได้ครับ ราคาเท่ากับที่จอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น